ฝุ่น PM2.5 และ AQI
By Admin
December, 12 2021 | 12:00 am
Article

ในกรุงเทพ ช่วงตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาเราจะสังเกตได้ว่าเรามองขึ้นท้องฟ้าแล้วฟ้าดูมัวแปลก ๆ อยู่บ่อย ๆ ซึ่งทุกคนพอจะรู้มาบ้างแล้วว่ามันคือ “ฝุ่น” ขนาดเล็กที่เราคุ้นเคยกันมาอยู่บ้าง (ไม่ใช่ไวรัสโคโรนา!) ซึ่งฝุ่นพวกนี้ถ้าพูดกันในเชิงวิชาการแล้วมันมีลักษณะ และคุณสมบัติเป็นอย่างไร? แล้วมาตรวัดฝุ่นคืออะไร? เราจะมาหาคำตอบในโพสนี้กัน

ฝุ่นขนาดเล็ก (Particulate Matter : PM) ตามความหมายขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) คือ อนุภาคต่าง ๆ ที่เป็นของแข็งและของเหลวของสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งสามารถเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพอากาศ ณ บริเวณนั้น ๆ ส่วนประกอบหลักของ PM มีด้วยกันดังนี้ Sulfate, Nitrate, Ammonia, Sodium Chloride และ Black carbon อนุภาคบางชนิดสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น ฝุ่น และควันต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ยังมีอนุภาคขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและถูกจำแนกเป็น 2 ขนาดหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่

  • PM10 คืออนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ถึง 10 ไมโครเมตร อนุภาคเหล่านี้สามารถแทรกซึมอยู่ในปอดได้
  • PM2.5 (หรืออนุภาคที่เราคุ้ยเคยกันดีนั่นเอง) คืออนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร อนุภาคเหล่านี้สามารถเข้าไปถึงระบบเลือด และระบบประสาทได้ 

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าฝุ่นพวกนี้มีประสิทธิภาพการทำลายล้างที่สูงมาก สามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายได้ทุกระบบ (เนื่องจาก PM2.5 สามารถเข้าสู่ระบบเลือดได้ และเลือดจะขนส่งสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้นจึงสามารถอนุมานได้ว่าฝุ่นขนาดจิ๋วนี้แทรกอยู่ในทุกระบบของร่างกาย) แต่มนุษยชาติอย่างเราก็ยังไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ เช่นกัน หลายหน่วยงานทั่วโลกได้พัฒนาเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศ (รวมถึง Sensor for all ด้วย) เพื่อเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพอากาศของบริเวณนั้น ๆ ทำให้ผู้อยู่อาศัยบริเวณดังกล่าวสามารถหาวิธีป้องกันตัวเองได้ ต่อมาเราจะมาดูกันว่าหลักการคร่าว ๆ ในการอ่านค่าฝุ่นเมื่อเราเข้าแอพพลิเคชั่นวัดค่าฝุ่นจะมีหลักการอย่างไร

ดัชนีวัดคุณภาพอากาศ (Air quality index : AQI) เป็นการรายงานข้อมูลสภาพอากาศ ณ บริเวณนั้น ๆ โดยค่าน้อยจะบ่งบอกถึงคุณภาพอากาศที่ดี ค่า AQI ที่แสดงนี้ใช้เป็นตัวแทนค่าความเข้มข้นของสารพิษทั้ง 6 ชนิด ได้แก่ Particulate Matter 2.5 ?m (PM2.5), Particulate Matter 10 ?m (PM10), Ozone (O3), Carbon Monoxide (CO), Nitrogen Dioxide (NO2) and Sulfur Dioxide (SO2) (หลายคนสับสนระหว่างค่า PM2.5 กับ AQI เวลาเข้าแอพดูคุณภาพอากาศต้องดูดีดี) เกณฑ์การวัดคุณภาพอากาศของแต่ละประเทศว่าอากาศดีหรือไม่ดีจะแตกต่างกันไป และที่สำคัญการคำนวณความเข้มข้นของสารพิษแต่ละชนิดจะใช้ช่วงเวลาเฉลี่ยและหน่วยที่แตกต่างกันเนื่องจากความอันตรายของสารแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ช่วงเวลาเฉลี่ยในการวัดค่ากับเกณฑ์คุณภาพอากาศของประเทศไทยเป็นดังนี้


  • PM2.5 และ PM10 จะเฉลี่ย 24 ชั่วโมงต่อเนื่อง หน่วยเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • O3 จะเฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อเนื่อง หน่วยจะเป็นหนึ่งในพันล้านส่วน (ppb)
  • CO จะเฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อเนื่อง หน่วยจะเป็นหนึ่งในล้านส่วน (ppm)
  • NO2 และ SO2 จะเฉลี่ย 1 ชั่วโมงต่อเนื่อง หน่วยจะเป็นหนึ่งในพันล้านส่วน (ppb)


  • 0-25 คุณภาพอากาศดีมาก
  • 26-50 คุณภาพอากาศดี
  • 51-100 คุณภาพอากาศปานกลาง
  • 101-200 คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
  • >201 คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ


ข้อควรคำนึงในการตรวจสอบคุณภาพอากาศตามเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ คือค่าที่แหล่งความรู้นั้นแสดง เราต้องสังเกตให้ดีก่อนว่าค่าที่เรากำลังอ่านอยู่คือค่า AQI หรือค่า PM2.5 “ไม่มีผิดหรือถูกว่าต้องแสดงค่าอะไร อยู่ที่ว่าเราต้องการรู้ค่าอะไรเท่านั้นเอง”

ปล. Black carbon คือ ผลิตภัณฑ์จากการสันดาปของเครื่องยนต์ในสภาวะที่มีอัตราส่วนของออกซิเจนและเชื้อเพลิงไม่เหมาะสมกัน รวมถึงสารประเภทกราไฟท์และเขม่าด้วย



แหล่งอ้างอิง

1. World Health Organization. “Ambient (outdoor) air pollution”

2. กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ. “ดัชนีคุณภาพอากาศ”

3. Shou, Yikai et al. A review of the possible associations between ambient PM2.5 exposures and the development of Alzheimer's disease. Ecotoxicology and Environmental Safety. 174(2019): 344-352.